จากการโหมกระหน่ำของข้อมูลข่าวสารอันมหาศาลในยุคปัจจุบันนี้ที่เรียกว่า IOKO(Information Overload Knowledge Overflow) ได้ส่งผลต่อการทำงานในหลายส่วนของสมอง และจิตใจของลูกเรา โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่วัยรุ่นที่สมองส่วนที่ตอบสนองต่อการได้รางวัล(Reward system) มีความไวเป็นพิเศษ(Sensitive) และสมองส่วนนี้จะมีการหลั่งสารสื่อสมองที่เรียกว่า โดปามีน(Dopamine) เมื่อรู้สึกมีความสุข เคลิบเคลิ้มไปกับการได้รับการยอมรับ(จากยอด Like ที่สูง) ส่งผลให้วัยรุ่นในยุคนี้ มีสมาธิที่สั้น(Short attention span) และมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า(Depression) ได้ง่าย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สมาธิที่สั้นลง เพราะมัวแต่มองหาสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์สุข เช่น รูปของตัวเองที่มียอดไลค์ที่สูง รวมไปถึง การที่สมองของเด็กยุคใหม่ถูกฝึกให้ตัดสินใจเร็วที่จะ “รีบเชื่อ” “รีบแชร์” และ “คอมเมนต์” ในเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นมาในแต่ละวัน เพราะไม่ต้องการที่จะตกกระแส(FOMO – Fear Of Missing Out) และการต้องการได้รับการยอมรับจากสังคม(Conformity) ล้วนส่งผลเสียต่อการทำงานของสมองของเด็กโดยไม่รู้ตัว
เนื่องจากการรีบตัดสินใจ “เชื่อ แชร์ และคอมเมนต์” นั้น ทำให้มีแต่การสร้างวงจรสมองส่วนเร็ว(Fast system)* ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ และความเชื่อเป็นหลัก ในขณะที่สมองส่วนตรรกะ และเหตุผล ที่ทำงานได้ช้า แต่ทรงประสิทธิภาพมากกว่า(Slow System) ไม่มีโอกาสได้ทำงานเท่าไหร่นัก ซึ่งหลักการของสมองที่ได้รับการพิสูจน์แล้วก็คือ ยิ่งใช้สมองส่วนไหน สมองส่วนนั้นก็จะมีการเชื่อมโยงใหม่ๆเกิดขึ้นตลอด ทำให้สมองส่วนนั้นทำงานได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นทำงานได้อย่างอัตโนมัติ(Autopilot) ในขณะที่สมองที่ไม่ค่อยได้ถูกใช้ ก็จะมีการเชื่อมโยงลดลงเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีความยากลำบากในการใช้งานมากยิ่งขึ้นไป
**ซึ่งถ้าผู้ใดสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ระบบการคิดแบบเร็ว และช้า(Fast and Slow systems) สามารถที่จะอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “Thinking, Fast and Slow” ของ Daniel Kahneman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2002 สาขา Nobel Memorial Prize in Economic Sciences

นั่นก็คือ Social medias ที่มีปริมาณข้อมูลมากมหาศาล(IOKO) ที่ผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการเชื่อมโยงสมองในส่วนของความเชื่อ และอารมณ์(Fast system) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การใช้เหตุผลลดลง สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับหลักการ และเหตุผล(Slow system) ก็มีการเชื่อมโยงที่ลดลงไปเรื่อยๆ สุดท้าย ก็จะส่งผลให้สังคมเรามีแต่เด็ก ที่ใช้แต่ความเชื่อ และอารมณ์ มากกว่าการใช้หลักการ และเหตุผลในที่สุด
ถ้าเรายังปล่อยไปแบบนี้ สุดท้าย เด็กเหล่านี้ก็จะคิดเองไม่เป็น เชื่อแต่การชี้นำของสังคม และคนรอบข้างเป็นหลัก ไม่สามารถที่จะคิดอะไรที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ได้เลย(Innovation) และพวกเค้าเหล่านั้น ก็จะต้องแพ้ต่อเทคโนโลยีที่มีแต่จะก้าวหน้าขึ้นอย่างก้าวกระโดดในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ปัญญาประดิษฐ์(AI) และการค้นหาข้อมูลอันมหาศาลจากการ Googling ได้ในเสี้ยววินาที แต่พวกเค้ากลับไม่รู้ว่า ข้อมูลไหน จริง เท็จ หรือมีประโยชน์อะไรหรือไม่

ทางออก(หลักการ)
-
สร้างกระบวนการกระตุกการทำงานของสมองส่วนหน้า(Prefrontal cortex) เพื่อสร้างการเชื่อมโยงใหม่ๆ(Rewiring) ของสมองส่วนที่คิดอย่างมีหลักการ และเหตุผล(Slow system) เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น
-
สร้างกระบวนการค้นหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ(Innovative Creativity) อยู่ตลอดเวลา เพื่อการพัฒนาตัวตนให้ดียิ่งขึ้น
-
สร้างกระบวนการในการเสริมสร้างสติ(Mindfulness) ให้เกิดขึ้น
-
ทำกระบวนการตามข้อ 1 2 และ 3 อย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น ทักษะ(Skill)
เมื่อเราสามารถที่จะสอน และฝึกลูกเราตามหลักการข้างต้นได้จนเป็นนิสัยของเค้าแล้ว กระบวนการต่างๆจะเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ(Autopilot) และเมื่อมองเข้าไปในสมองของพวกเค้า เราก็จะพบว่า ได้มีการเชื่อมโยงใหม่ๆ(Rewiring) ของสมองส่วนที่คิดอย่างเป็นหลักการ และเหตุผลเกิดเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมายแล้วนั่นเอง
ในครั้งหน้า ผมจะมาลงในรายละเอียดของการทำตามขั้นตอนของหลักการข้างต้น ซึ่งเมื่อได้ทราบแล้ว ทุกท่านสามารถที่จะนำไปปรับให้เข้ากับความชอบ ความถนัด ของตัวท่าน และลูกท่านได้ และผมเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าได้ทำอย่างต่อเนื่อง มีวินัย จริงจัง ทุกๆท่าน จะได้เห็นผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในการพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวลูกหลานของท่านให้เปล่งประกายออกมาอย่างที่ท่านเอง ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นมาได้ครับ
* https://blogs.scientificamerican.com/guest-blog/the-creativity-of-dual-process-system-1-thinking/
** https://en.wikipedia.org/wiki/Daniel_Kahneman
คิดปรับมุม BrainChef
DoctorT Neuro
ดอกเตอร์ทีนิวโร
Like this:
ถูกใจ กำลังโหลด...
Published by Doctor T Neuro
I am a neurologist interested in neuropsychiatry
ดูเรื่องทั้งหมดโดย Doctor T Neuro