“ทุกคนเกิด และเติบโตขึ้นมา พร้อมกับสมอง 3 ส่วนที่ทำงานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงที่มีชื่อเรียกว่า Triune Brain”
จากตอนที่แล้ว ที่เราได้รู้ถึงสมองชั้นในที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณ(Inner/Instinct/Reptilian Brain) ไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า
“สมองชั้นนี้ทำงานเร็ว เป็นอัตโนมัติอยู่ตลอดเวลา และเกี่ยวกับตัวเรา ของเรา การอยู่รอด และดำรงเผ่าพันธ์ุเป็นหลัก”
การกระตุ้นสมองส่วนนี้ จะทำให้ดึงความสนใจ(Grab attention)ได้ง่าย และเร็ว
แต่สมองส่วนนี้ก็ทำงานเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แล้วก็จากไป!!!
ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีสมองที่ครอบสมองชั้นในขึ้ันมาอีกชั้นตามวิวัฒนาการ สมองส่วนนี้ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ และความจำ เป็นหลัก
เราเรียกสมองส่วนนี้ว่า สมองชั้นกลาง สมองอารมณ์ หรือสมองลิมบิก(Middle/Emotional/Limbic Brain)
Credit: https://contentmarketinginstitute.com/2018/03/words-convert-test/limbic-brain/
เพิ่มความสำเร็จ ด้วยผงชูรสแห่งอารมณ์(Emotional ampliflier)
ผมอยากให้ลองนึกภาพตามเหตุการณ์นี้นะครับ
คุณแม่พาลูกน้อยวัย 5 ขวบไปเดินห้าง แต่ในระหว่างที่คุณแม่กำลังเลือกซื้อของ ก็เหลือบไปมองเห็นชายวัยกลางคน มีหนวดเครายาว เข้ามาคุยกับลูกน้อย
ลองคิดตามดูนะครับว่า “เกิดอะไรขึ้นในสมองของคุณแม่”???
จากความรู้ในตอนที่แล้ว
สมองที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา และทำงานได้เร็ว ก็คือสมองชั้นใน(Inner/Instinct Brain) ที่ทำงานตามสัญชาตญาณเป็นหลัก
เป็นสมองดึกดำบรรพ์ เพื่อระแวดระวังภัย กับสิ่งที่เป็นของเรา เกี่ยวเนื่องกับเรา
แน่นอน เมื่อสมองสัญชาตญาณนี้ทำงาน จะทำให้แม่ทุกคนเกิดความรู้สึกว่า กำลังมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นกับลูกน้อยแน่นอน
ผู้ชายแปลกหน้า หนวดเครายาว คงไม่ได้มาดีแน่ๆ
ไม่น่าจะมีแม่คนไหนรู้สึกในทันทีว่า ผู้ชายคนนี้มาดีนะครับ
หลังจากนั้นสมองส่วนที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณแม่ ก็คือสมองส่วนอารมณ์(Emotional/Limbic Brain)
ถ้าก่อนมาเดินห้าง คุณแม่เพิ่งทะเลาะกับผู้ชายแปลกหน้ามีเคราที่ขับรถปาดหน้ามาหยกๆ
สมองส่วนอารมณ์ของคุณแม่ยังคงทำงานอยู่ ด้วยอารมณ์ลบ และยิ่งเชื่อมโยงกับผู้ชายมีเคราอีก
เมื่อเราสแกนสมองของคุณแม่ในตอนนี้ จะเห็นได้ว่า สมองชั้นกลางส่วนอารมณ์กำลังทำงานอยู่ และทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องขยายสัญญาณ(Ampliflier) ให้กับสมองชั้นในที่ระแวดระวังภัยอยู่แล้ว
สิ่งที่คุณแม่ท่านนี้จะแสดงออกมาก็คือ รีบเดินเข้าไปขวางผู้ชายแปลกหน้า มองด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร และอาจพูดอะไรที่ไม่ดีออกไปได้อย่างง่ายดาย
กลับกัน
ถ้าก่อนมาถึงห้าง คุณแม่ท่านนี้ทำกระเป๋าสตางค์หล่นโดยไม่รู้ตัว
แล้วอยู่ๆ ก็มีผู้ชายแปลกหน้าไว้เครา สะกิดพร้อมกับยื่นกระเป๋าสตางค์ที่หล่นให้
สมองชั้นกลางส่วนอารมณ์ของคุณแม่ท่านนี้กำลังอิ่มเอมกับสิ่งดีๆที่ได้รับจากชายแปลกหน้า
พอมาเจอสถานการณ์ข้างบนในห้าง
แม้สมองชั้นในจะเริ่มทำงานก่อน สัญชาตญาณบอกให้ระวังภัยกับลูกน้อย
แต่เนื่องจากสมองชั้นกลางส่วนอารมณ์ที่ครอบสมองชั้นในไว้อีกที(ตามรูปด้านบนสุด) กำลังทำงานด้วยความสุข อิ่มเอมใจ
สมองชั้นกลางจะทำหน้าที่ปรับโวลุ่มสัญญาณที่ได้รับมาจากสมองส่วนสัญชาตญาณให้เบาบางลง
ความรู้สึกระวังภัย ก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า
.
“สมองชั้นกลาง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์นั้น เปรียบเสมือนตัวขยาย หรือลดสัญญาณจากสมองชั้นใน ให้ทำงานเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้นั่นเอง
และด้วยการเพิ่ม หรือลดสัญญาณจากสมองส่วนสัญชาตญาณ ก็จะส่งผลต่อความรู้สึก การตัดสินใจ และพฤติกรรมที่แสดงออกมาอีกด้วย”
.
เราประยุกต์ความรู้ตรงนี้ได้อย่างไร???
อย่างเช่น ถ้าเราอยากร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม
ต้องการลดความรุนแรงในสังคม หรือบนท้องถนน
เราควรมีละครหลังข่าวที่เป็นสื่อสีขาว สร้างอารมณ์เชิงบวกอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ควรเต็มไปด้วยละครตบจูบ หรือความรุนแรง
เมื่อสื่อต่างๆ ร่วมมือกัน สร้างสื่อสีขาวให้เกิดขึ้น
สมองส่วนอารมณ์ของคนในสังคม ก็จะเต็มไปด้วยอารมณ์บวก
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจสร้างความรุนแรง
แม้สมองส่วนสัญชาตญาณจะชิงทำงานก่อน
แต่สมองส่วนอารมณ์ที่ถูกปรับจูนมาอย่างดี ก็จะช่วยลดสัญญาณจากสมองสัญชาตญาณได้
ความรุนแรงก็จะลดลงไป
ดังเช่น บางประเทศได้ทำสำเร็จมาแล้ว
เดิมเมื่อหลายสิบปีก่อน ประเทศแถบเอเชียตะวันออกประเทศนึง ซึ่งในอดีตมีสถิติความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดจากสามีกระทำต่อภรรยาค่อนข้างสูง
ผู้วางแผนระดับชาติก็มีการดำเนินการหลากหลาย รวมไปถึงการขอให้สื่อนำเสนอละครที่ผู้ชายดูอ่อนโยนเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น
ในละคร ผู้ชายจากเดิมที่ดูห้าว ก็ดูมีความสมัยใหม่มากขึ้น ให้เกียรติผู้หญิง ผสมอารมณ์ขัน และดูแลตัวเองในการแต่งกายมากขึ้น
ผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี
สถิติความรุนแรงในครอบครัวลดลงอย่างชัดเจน!!!
.
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาถึงเรื่องสื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม และอารมณ์ของเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
The influence of violent media on children and adolescents: a public-health approach
นอกจากอารมณ์ ยังเกี่ยวข้องกับ ความทรงจำ(Memory) อีกด้วยน้า
“สมองชั้นกลาง(Middle Brain) นอกจากจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์แล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความทรงจำระยะกลางถึงยาว อีกด้วย!!!”
เราเคยสงสัยไหมครับว่า ทำไม เราถึงจำเรื่องราวที่ก่อให้เกิดอารมณ์อย่างสุดขั้วได้ดีกว่าเรื่องราวธรรมดาๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์สุดขั้วด้านบวก หรือลบ
เราจำสถานที่ เรื่องราว วันเวลา ที่ออกเดตครั้งแรก กับแฟนคนแรกได้เป็นอย่างดี
หญิงสาวที่เห็นคู่หมั้นที่คบกันมา 7 ปี เป็นคนที่ดี และน่ารักมาก ถูกรถชนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา หญิงสาวคนนั้นจะไม่มีวันลืมช่วงเวลา และเหตุการณ์นั้นไปได้เลย
การที่สมองเราจดจำเรื่องราวที่ประกอบด้วยอารมณ์ได้ดีกว่าเรื่องทั่วๆไปก็เพราะ
สมองเราจำแบบเป็นแพทเทอร์น(Pattern)
ถ้าความทรงจำอะไรที่โดดเด่น มีอารมณ์เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะบวก หรือลบ
สมองของเราจะให้ค่ากับความทรงจำนั้นๆเป็นพิเศษ!!!
.
เราเอาความรู้ตรงนี้มาประยุกต์ในการทำการตลาดได้อย่างไร???
Credit: http://www.absciencemarketing.com/whole-brain-marketing.html
สื่อที่จะสร้างความจดจำได้ดี
ต้องสร้างอารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้นกับผู้รับสื่อให้ได้
ตัวอย่างเช่น โฆษณาของบริษัทประกันหนึ่ง ที่อยู่คู่คนไทยมานาน
เราจะเห็นได้ว่า มีการสื่อสารถึงผู้ชมด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ สร้างความประทับใจ
และเมื่อสื่อที่สร้างอารมณ์กระตุ้นให้สมองชั้นกลางทำงานได้ดี ก็จะสร้างการจดจำได้อย่างยอดเยี่ยมโดยอัตโนมัติ
“เพราะสมองส่วน Limbic เป็นสมองส่วนอารมณ์ และความทรงจำนั่นเอง”
นอกจากนี้
.
เรายังสามารถจะนำมาปรับใช้ในการสอนหนังสือกับเด็กๆได้อีกด้วย
สมองชั้นกลางของเด็กจะเริ่มพัฒนาขึ้นมากในช่วง 3-8 ขวบ
จนมีขนาดประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของสมองทั้งหมด
ดังนั้น การจะสอนเรื่องราว หรือเนื้อหาใดๆกับเด็กในช่วงวัยนี้
สื่อ และวิธีการสอน ต้องมาพร้อมการสร้างอารมณ์สนุก สุขให้เกิดขึ้นไปด้วย
แล้วเด็กจะจำเรื่องราวต่างๆได้ดีเป็นพิเศษ เพราะสมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้น ไปพร้อมกับการสร้างความทรงจำ
ในเด็กวัยนี้สมองส่วนเหตุผล(จะพูดถึงในตอนหน้า) ยังไม่เติบโตดี ดังนั้น การสอนเรื่องเหตุผลอาจไม่ได้สร้างความทรงจำให้เกิดขึ้นได้ดีเท่ากับ การให้สื่อที่สร้างอารมณ์สุขให้กับเด็ก
สรุป
-
สมองชั้นกลาง(Middle/Emotional/Limbic Brain) เป็นสมองที่วิวัฒนาการเพิ่มขึ้นมา และครอบสมองชั้นใน(Inner/Instinct/Reptilian Brain) เอาไว้อีกทีนึง
-
สมองชั้นกลาง ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ และความจำ
-
การจะสร้างการจดจำที่ดี สื่อที่ส่งออกไป ต้องมีศักยภาพในการสร้างอารมณ์ร่วมให้เกิดกับผู้รับสื่อนั้นให้ได้ เพราะเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นในสมองชั้นกลาง การสร้างความทรงจำก็จะเกิดขึ้นตามโดยอัตโนมัติ
-
เราสามารถที่จะนำความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน การสอนเด็กเล็ก การตลาด และการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามได้
One thought on “(ตอนที่ 2)ชนะใจคนง่ายๆ ด้วยเทคนิคเจาะลึกถึงสมองทั้ง 3 ส่วน…เพิ่มความสำเร็จด้วยผงชูรส”