4 ขั้นตอนการดักจับความคิดสร้างสรรค์
จากครั้งที่แล้ว เราได้รู้ว่า ความคิดสร้างสรรค์แม้จะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มันมีที่อยู่ในสมองอย่างชัดเจน สามารถมองเห็นได้จากการสแกนด้วยเครื่อง fMRI
และวงจรของความคิดสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า วงจรคิดเอาเล่น นั้น มีชื่อเรียกว่า Default Mode Network(DMN)
แล้วเราจะสลับสวิทซ์ จากวงจร คิดเอาเรื่อง(EF) ไปสู่วงจร คิดเอาเล่น(DMN) ได้อย่างไรกันล่ะครับ???
4 ขั้นตอนดักจับความคิดสร้างสรรค์
1. กักเก็บ(Collecting) คือขั้นตอนการเตรียมข้อมูลที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆเอาไว้ เช่น ถ้าอยากให้ลูกเป็นนักเขียน นักแต่งเพลง ก็ต้องให้เค้าฝึกฝนในการเขียน และแต่งเพลงอย่างต่อเนื่อง และทุกๆวัน เป็นเวลาที่แน่นอน เนื่องจากสมองส่วนคิดเอาเรื่อง(EF) จะทำงานในส่วนนี้ สมองส่วนนี้ชอบการทำที่เป็นระบบ ระเบียบ ถ้าเราฝึกให้สมองส่วนนี้คุ้นชินกับช่วงเวลาที่จะต้องตื่นตัวขึ้นมาเพื่อการกักเก็บข้อมูลไว้ จะทำให้การเก็บข้อมูลนั้นมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด นั้นจึงไม่แปลกใจในความเป็นจริงที่ว่า นักแต่งเพลง นักเขียนที่มีชื่อเสียง ล้วนแต่มีวินัยในการฝึกฝนตนเองทุกวันในการแต่งเพลง หรือเขียนงาน ไม่ใช่ทำงานศิลปะแบบตามอารมณ์อย่างที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจกัน
2. กดเปลี่ยน(Switching) คือขั้นตอนที่สำคัญของการดักจับความคิดสร้างสรรค์ นั้นก็คือ การสลับสวิทซ์จากการใช้วงจรสมองส่วนคิดเอาเรื่อง(EF) ไปสู่วงจรสมองส่วนคิดเอาเล่น(DMN) วงจรสมองส่วนคิดเอาเล่นนั้น คือการคิดแบบไร้สาระนั้นเอง
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่คิดไร้สาระได้ และการคิดไร้สาระก็คือ เสาหลักของการคิดอย่างสร้างสรรค์
การจะสลับไปใช้สมองส่วน DMN นั้น เราต้องเลิกคิดเอาเรื่อง คือ เลิกในการตั้งใจ พยายาม ที่จะ สร้าง บีบ เค้น เอาความคิดสร้างสรรค์ออกมาให้ได้ เพราะนั่นคือ เรากำลังใช้สมองส่วนการคิดเอาเรื่อง ไม่ใช่สมองส่วนคิดเอาเล่น
คลิกเพื่อชม วิดีโอการสแกนสมองของ Default Mode Network(DMN) ด้วยเครื่อง fMRI
Credit: Gonzalo Rojas Costa
สมองส่วนคิดเอาเล่น(DMN) ชอบสภาวะที่ผ่อนคลาย เหมือนอย่างตอนที่ นิวตันไปนอนกินลมชมฟ้าใต้ต้นแอปเปิ้ลอย่างสบายใจ หรืออคิมิดิสไปแช่อ่าง แล้วเกิด Eureka moment ขึ้นมานั่นเอง
ดังนั้นเราต้องสร้างสภาวะผ่อนคลายให้กับสมองของเรา ด้วยการออกไปเดินเล่น ฟังเพลง ดูหนัง ลงอ่าง(แบบอคิมิดีส) รวมถึงการนั่งสมาธิ เพื่อที่จะเป็นการเริ่มต้นการสลับ
สวิทซ์เข้าสู่วงจรสมองส่วนคิดเอาเล่น
แล้วเกิดอะไรขึ้น เมื่อเราสลับสวิทซ์ไปใช้สมองส่วนคิดเอาเล่น
3. ก่อเกิด(Incubating) เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้วงจรสมองส่วนคิดเอาเล่น(DMN) แล้ว สมองส่วนนี้จะทำตัวเหมือนเด็ก ที่เอาของรอบตัว ซึ่งก็คือข้อมูลที่ได้จากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจากการทำงานของสมองส่วนคิดเอาเรื่อง(EF) มายำแบบตามใจชอบ อิสระ ไร้ขอบเขต ไม่ติดกรอบ ไม่ต่างจากตอนที่เราฝันกลางวัน หรือใจลอยเหม่อ คิดเรื่องไร้สาระระหว่างวันนั่นเอง และการคิดอย่างไร้กรอบ ไม่ติดหลักการ และเหตุผล ไม่อาศัยตรรกะ นั้นสุดท้ายจะนำไปสู่ ไอเดียใหม่ๆ ที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเรา เพราะการคิดไร้สาระของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป เมื่อความคิดแบบไร้สาระเกิดขึ้นมาในสมองของเรา ก็จะเกิดช่วงจังหวะที่เรียกว่า Eureka moment แบบอคิมิดิสนั่นเอง
4. กลั่นกรอง(Evaluating) หลังจากที่เกิด Eureka moment แล้ว ไอเดียไร้สาระที่เกิดขึ้น อาจจะไร้สาระจนหลุดโลก ยังไม่สามารถที่จะทำได้จริงด้วยความรู้ ความเป็นไปได้ในปัจจุบัน เราจึงต้องสลับสวิทซ์สมองกลับมาใช้สมองส่วนคิดเอาเรื่อง(EF) ในการใช้เหตุผล คิดหาหนทาง และความเป็นไปได้ในการนำเอาไอเดียที่ดูเหมือนจะไร้สาระ มาทำเป็นไอเดียที่มีสาระแต่ดูดี และทำได้จริง เมื่อเราเปลี่ยนเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องมีสาระได้ นั่นหมายถึงว่า ความคิดสร้างสรรค์ ได้ถูกดักจับเรียบร้อยแล้วนั้นเอง
จะเห็นได้ว่า จริงๆแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ที่ดูเหมือนจะจับต้องไม่ได้ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้เราสามารถมองเห็นถึงที่อยู่ของความคิดสร้างสรรค์ในสมองของเรา และเราสามารถที่จะสร้างกับดักเพื่อดักจับความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การอาศัยแต่ดวง โชคชะตา หรือความคิดว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ลอกเลียนแบบไม่ได้แบบแต่ก่อน
โดยสรุป ก็คือ การมีวินัยในการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องในเรื่องที่เราสนใจ เป็นพื้นฐานของการสร้างคลังข้อมูล เตรียมเอาไว้สำหรับสมองส่วนคิดเอาเล่นมาใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการยำเข้าด้วยกัน เหมือนเด็กเล่นขายของ เล่นสร้างบ้าน เป็นการคิดอย่างไร้สาระ ไม่มีขอบเขต ตรรกะ หลักการใดๆมาเป็นกรอบ